การสร้างเครื่องบินมีวิวัฒนาการมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการพาณิชย์หรือส่วนบุคคลล้วนมีการนำเทคนิคและนวัตกรรมมาช่วยให้การดำเนินงานง่ายและรวดเร็วขึ้น จึงทำให้มีการดัดแปลงมาเป็นการประกอบเองแบบ DIY สำหรับอุตสาหกรรมการบินทั่วไปหรือ General Aviation (GA) ซึ่งเครื่องบินที่สามารถให้บุคคลทั่วไปประกอบได้จะเป็นแบบขนาดเล็ก 1-4 ที่นั่ง ในรูปแบบชิ้นส่วนต่างๆที่ผ่านการผลิตมาให้เป็นชุดประกอบ (Kit) เรียกว่า Experimental Airplane ซึ่งได้ผ่านการทดสอบและได้ใบรับรอง Type Certificate (TC) จากกรมการบินมาแล้ว
คุณ ธนิก นิธิพันธวงศ์ ผู้มีประสบการณ์ในการออกแบบและสร้างเครื่องบินภายใต้การควบคุมของกรมการบิน FAA ของอเมริกา, EASA ของยุโรป, FATA ของรัสเซีย, CAAC ของจีน และ TCCA ของแคนาดา มาแล้ว และสุดท้ายก็จะได้มาดำเนินงานตามกฎของกรมการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยหรือ CAAT เสนอสี่สิ่งหลักๆที่ควรให้ความสำคัญในการออกแบบสร้างและตรวจเช็คสำหรับเครื่องบินขนาดเล็กแบบ General Aviation (GA) ที่ไม่ซับซ้อนเหมือนเครื่องพาณิชย์ที่ใช้ในสายการบินหรือเครื่องบินเจ็ทที่มีให้เห็นกันบ่อยๆคือ
1. โครงสร้าง (Airframe) ประกอบด้วย ลำตัว ปีก แกนใบพัด หาง ล้อ ที่นั่ง และตัวยึดเครื่องยนต์ “โครงสร้างต้องไม่ร้าวชิ้นส่วนต้องไม่หลุด”
2. เครื่องยนต์ (Powerplant) ระบบจ่ายพลังงานไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน ไฟฟ้า หรือไฮโดรเจน และการระบายความร้อน “ระบบต้องไม่รั่วเครื่องยนต์ต้องไม่หยุด”
3. กลไกควบคุม (Control Mechanism) “กลไกต้องไม่ค้างทิศทางต้องไม่ผิด”
4. อุปกรณ์นำทางและสื่อสาร (Flight Instruments) “ตำแหน่งต้องไม่พลาดสัญญาณต้องไม่ขาด”
สิ่งเหล่านี้เป็นจุดสำคัญที่ได้รวบรวมมาจากประสบการณ์ข้อขัดข้องของเครื่องบินเล็กที่เกิดขึ้นและมีสาเหตุมาจากการสร้างโดยไม่เกี่ยวกับความผิดพลาดของนักบิน (Pilot Error) ไม่ว่าจะเป็นเครื่องบินชุดประกอบหรือที่ออกแบบสร้างเองในด้านสันทนาการควรคำนึงถึงสี่สิ่งนี้ว่าดีพอและเหมาะแก่การนำมาใช้งานในการขึ้นบินได้หรือยังรวมถึงการสำรวจสภาพดินฟ้าอากาศเพื่อช่วยป้องกันอันตรายต่อตนเองและคนรอบข้างเพราะความปลอดภัยคือเป้าหมายหลักในการสร้างเครื่องบิน
อีกหนึ่งเทรนด์ที่กำลังมากแรงในอุตสาหกรรมนี้ก็คือเครื่องบินแบบขึ้นลงแนวดิ่ง (VTOL: Vertical Take-Off and Landing) หรือที่เราได้ยินกันในนามแท็กซี่ลอยฟ้า ที่กำลังอยู่ในช่วงพัฒนาและสามารถใช้แนวคิดนี้ได้เช่นกัน