สืบเนื่องจากวันที่ 14 มกราคมของทุกปี ถือเป็นวันครบรอบการถึงแก่กรรมของ ศ.ดร.อำนวย คอวนิช อดีตผู้อำนวยการของ อ.อ.ป. ผู้ริเริ่ม พัฒนากิจการอุตสาหกรรมไม้ ทั้งในด้านการทำไม้ การอุตสาหกรรมไม้ และการสร้างแหล่งทรัพยากรป่าไม้ ตลอดจนพัฒนาชุมชนป่าไม้ และยังดูแลใส่ใจการเลี้ยงดูช้างให้อยู่ได้อย่างปลอดภัย
ในการนี้ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) ได้จัดพิธีวางพวงมาลารูปปั้น ท่าน ศ.ดร.อำนวย คอวนิช ขึ้น 2 แห่ง ได้แก่ อ.อ.ป. กรุงเทพฯ และสวนป่าทุ่งเกวียน จังหวัดลำปาง ซึ่งในโอกาสนี้ นางพรเพ็ญ วรวิลาวัณย์ ผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และพนักงาน อ.อ.ป. ได้ร่วมแสดงกตัญญุตาระลึกถึงคุณูปการของ ศ.ดร.อำนวย คอวนิช ณ รูปปั้นท่าน ศ.ดร.อำนวย คอวนิช อ.อ.ป. กรุงเทพฯ ชั้น 3
สำหรับผลงานสำคัญที่ ศ.ดร.อำนวย คอวนิช ได้เป็นผู้ริเริ่ม อาทิ ในปี พ.ศ. 2504 จัดสร้างเครื่องเลื่อยเคลื่อนที่ และยังจัดตั้งโรงงานไม้ประสานเป็นโรงงานตัวอย่างขึ้นที่จังหวัดลำปาง จัดทำบ้านสำเร็จรูปของ อ.อ.ป. รวมถึงการจัดทำเฟอร์นิเจอร์สำเร็จรูปออกจำหน่าย อีกทั้งยังริเริ่มงานด้านการปลูกสร้างสวนป่าแบบสมัยใหม่ให้กับ อ.อ.ป., ในปี พ.ศ. 2506 ริเริ่มนำเครื่องจักรกลมาใช้ในการทำไม้สักของประเทศไทย, ในปี พ.ศ. 2510 พัฒนาระบบหมู่บ้านป่าไม้ โดยอาศัยหลักการพัฒนาสังคมชนบทเป็นหลักควบคู่ไปกับการป่าไม้ และ อ.อ.ป. ได้ปลูกสร้างสวนป่าไม้เศรษฐกิจ “เพื่อการใช้สอยทดแทนไม้จากป่าธรรมชาติ” ทำให้ในปัจจุบัน อ.อ.ป. สามารถขยายสวนป่าเศรษฐกิจทั่วประเทศ มีพื้นที่รวมประมาณ 1.107 ล้านไร่ กอปรกับแนวคิดระบบหมู่บ้านป่าไม้ข้างต้น ทำให้รัฐบาลไทยถือเป็นนโยบายระดับชาติในปี พ.ศ. 2517, องค์การสหประชาชาติจึงได้ยึดถือเป็นต้นแบบว่าด้วย การเคลื่อนย้ายถิ่นของพลเมือง ซึ่งได้เผยแพร่เป็นภาพยนตร์แก่ประเทศสมาชิกเมื่อปี พ.ศ. 2518
นอกจากนั้น การอนุรักษ์และบริบาลช้างไทย ศ.ดร.อำนวยฯ ยังคงให้ความสำคัญไม่แพ้การปลูกสร้างสวนป่า ยกตัวอย่างเช่น ในปี พ.ศ. 2512 ได้จัดตั้ง “ศูนย์ฝึกลูกช้าง” ขึ้นที่อำเภองาว จังหวัดลำปาง ซึ่งถือเป็นโรงเรียนฝึกลูกช้างแห่งแรกของโลก โดยเล็งเห็นถึงความปลอดภัยของลูกช้าง ที่ต้องล้มตายจากสัตว์มีพิษและสัตว์ร้ายตลอดจนอุบัติเหตุตกเขา เพื่อให้ลูกช้างได้อยู่ใกล้ชิดกับสัตวแพทย์ และได้เข้ารับการฝึกรับคำสั่งจากควาญช้าง ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวจัดตั้งเป็น “ศูนย์บริบาลช้างบ้านปางหละ” ใช้ในการดูแลช้างชรา ช้างเจ็บป่วยและพิการ เนื่องจากพื้นที่เดิมของศูนย์ฝึกลูกช้างข้างต้นมีเนื้อที่จำกัด ไม่สามารถรองรับจำนวนช้างที่รวมกันอยู่เป็นจำนวนมากได้ ในปี พ.ศ. 2534 ได้ย้ายช้างมาเลี้ยงดูที่บริเวณสวนป่าทุ่งเกวียน อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง และได้ก่อตั้งเป็น “ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย” เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในขณะดำรงพระอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในวโรกาสเจริญพระชนมายุครบ 36 พรรษา และพระองค์ท่านได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิด “ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย” อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2535 ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 ได้ยกฐานะจาก “ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย” เป็น “สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์” จนถึงปัจจุบัน
นับได้ว่า ตลอดระยะเวลาที่ ศ.ดร.อำนวย คอวนิช ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ ท่านได้ช่วยพัฒนากิจการอุตสาหกรรมไม้ภายในประเทศไทยในทุกๆ ด้าน นับได้ว่าเป็นปูชนียบุคคลที่ทรงคุณค่าอีกท่านหนึ่ง และเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2539 ศ.ดร.อำนวย คอวนิช ได้ถึงแก่กรรม อ.อ.ป. จึงถือให้วันที่ 14 มกราคมของทุกปี เป็นวันรำลึกถึง “ศ.ดร.อำนวย คอวนิช” เพื่อเป็นการไว้อาลัยและระลึกถึงคุณงามความดีของท่านสืบไป